วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2564

โขน สำหรับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ตอนที่ 1



แบบทดสอบก่อนเรียน

https://docs.google.com/forms/d/16UWTeNLEf5BWI9aA4x6WKmvR7KMWdv909wQSAImBBLA/edit 


หัวโขน

หัวโขน เป็นงานศิลปะชั้นสูง ใช้สำหรับสวมครอบศีรษะ ปิดบังส่วนหน้าของผู้แสดงโขนอย่างมิดชิด เป็นศิลปวัตถุประเภทประณีตศิลป์ และงานศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรตระการตาเช่นเดียวกับเครื่องแต่งกาย ประณีตบรรจงตามแบบช่างไทย มีรูปลักษณะสวยงาม ลักษณะคล้ายหน้ากาก แตกต่างตรงที่เป็นการสร้างจำลองรูปทรงใบหน้าและศีรษะทั้งหมด เจาะช่องเป็นรูกลมที่นัยน์ตาของหัวโขน ให้ตรงกับนัยน์ตาของผู้แสดงเพื่อการมองเห็น[1] แบ่งเป็น 2 ประเภทคือหัวโขนสำหรับใช้ในการแสดง หมายความถึงหัวโขนที่สื่อถึงตัวละครนั้น ๆ เช่น พระ ยักษ์ เทวดา วานรและสัตว์ต่าง ๆ สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ ตามเอกลักษณ์ของหัวโขนที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบของศิลปะไทย[2] และหัวโขนที่ใช้สำหรับเป็นของประดับตกแต่งหรือของที่ระลึก หมายความถึงหัวโขนที่ทำขึ้นโดยการหล่อ ปั้น ฉีดและขึ้นรูปด้วยพลาสติกหรือกรรมวิธีอื่น ๆ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก[3]

ประเภทของหัวโขน

หัวโขนที่ใช้สำหรับแสดง แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ตามลักษณะของตัวละครคือ หัวโขนพงศ์นารายณ์ ประกอบด้วยเผ่าพงศ์วงศ์กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา หัวโขนพรหมพงศ์และอสูรพงศ์ ประกอบด้วยพรหมผู้สร้างกรุงลงกาและอสูรพงศ์ในกรุงลงกา หัวโขนมเหศวรพงศ์ ประกอบด้วยพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหมและเทวดาต่าง ๆ หัวโขนฤๅษี ประกอบด้วยฤๅษีผู้สร้างกรุงอโยธยา ฤๅษีที่พระราม พระลักษมณ์และนางสีดาพบเมื่อคราวเดินดง หัวโขนวานรพงศ์ ประกอบด้วยพญาวานร วานรสิบแปดมงกุฎ เสนาวานร วานรเตียวเพชร วานรจังเกียงและพลลิงหรือเขนลิง

หัวโขนคนธรรพ์ ประกอบด้วยเทพคนธรรพ์และคนธรรพ์ หัวโขนพญาปักษา ประกอบด้วยพญาครุฑ พญาสัมพาที พญาสดายุ และหัวโขนแบบเบ็ดเตล็ด ประกอบด้วยหัวสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น และอาจแบ่งตามประเภทของหัวโขนที่ใช้สวมอย่างละ 2 ประเภทคือ ยักษ์ยอด ยักษ์โล้น ลิงยอดและลิงโล้น[4] นอกจากนี้ยังแบ่งตามชนิดของมงกุฎ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไป แบ่งเป็นฝ่ายลงกาคือ มงกุฎยอดกระหนก มงกุฎยอดจีบ มงกุฎยอดหางไก่ มงกุฎยอดน้ำเต้า มงกุฎยอดน้ำเต้ากลม มงกุฎยอดน้ำเต้าเฟื่อง มงกุฎยอดกาบไผ่ มงกุฎยอดสามกลีบ มงกุฎยอดหางไหล มงกุฎยอดนาคา มงกุฎตามหัวหรือหน้า พวกไม่มีมงกุฎ พวกหัวโล้น พวกหัวเขนยักษ์หรือพลทหารยักษ์และตัวตลกฝ่ายยักษ์

ถึงแม้มีการบัญญัติและประดิษฐ์หัวโขนให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน ยังคงมีหัวโขนบางประเภทที่มีมงกุฎยอดเหมือนกัน จึงมีการทำหน้าโขนให้ปากและตาแตกต่างกันไป แบ่งเป็น 4 ประเภทคือ ประเภทปากแสยะตาโพลง ประเภทปากแสยะตาจระเข้ ประเภทปากขบตาโพลง และประเภทปากขบตาจระเข้ เป็นต้น[5] ฝ่ายพลับพลาคือ มงกุฎยอดบัด มงกุฎยอดชัยหรือยอดแหลม มงกุฎยอดสามกลีบ พวกไม่มีมงกุฎแต่เป็นลิงพญามีฤทธิ์เดช พวกไม่มีมงกุฎแต่เรียกมงกุฎ พวกเตียวเพชร จังเกียง หัวลิงเขนหรือพลทหารลิงและหัวตลกฝ่ายลิง สำหรับพวกพญาวานรที่ไม่มีมงกุฎและพวกสิบแปดมงกุฎ มักนิยมเรียกรวมกันว่าลิงโล้น[6]

จำแนกตามใบหน้า

การจำแนกตามใบหน้าของโขน เป็นการจำแนกหน้าของหัวโขนจำนวนมากออกจากกัน แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่หน้ามนุษย์ หน้าเทวดาและหน้าอมนุษย์ ในส่วนของหน้ามนุษย์ฯ ช่างทำหัวโขนจะนิยมปั้นเค้าโครงหน้าให้มีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์ มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยตรงบริเวณหู ดวงตา จมูกและปาก ซึ่งจะปั้นออกมาเป็นลักษณะกลาง ๆ ไม่เหมือนกับรูปหน้าของหุ่นและมนุษย์จริงมากนัก ดังนั้นใบหน้าของหัวโขนประเภทหน้ามนุษย์ฯ จะมีเค้าโครงหน้าเหมือนกันทุกหัว นิยมเขียนระบายสีสันบนใบหน้าให้ยิ้มแย้มอยู่ในหน้าด้วยอารมณ์ร่าเริง วาดเส้นโค้งกลับขึ้นบริเวณส่วนปากกับไพรหนวด ดวงตาทั้งสองข้างโค้งงอนขึ้น สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในหน้าของฤๅษีสำหรับหน้าอมนุษย์ ส่วนใหญ่จะเป็นหน้ายักษ์ ปั้นเค้าโครงจากใบหน้ามนุษย์ทั่ว ๆ ไปเช่นเดียวกับหน้ามนุษย์ฯ ในการปั้นหัวโขนหน้าอมนุษย์นั้น ช่างทำหัวโขนจะต้องมีความชำนาญ ศึกษาเรียนรู้ภูมิหลังและประวัติความเป็นมาของตัวละครยักษ์แต่ละตัวอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถปั้นหัวโขนให้มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวละครมากที่สุดเช่น ทศกัณฐ์ซึ่งลักษณะนิสัยตามเนื้อเรื่องที่ดุร้าย โกรธง่าย มีสิบหน้าสิบมือและมีฤทธิ์มาก จึงเลือกเอาลักษณะความโหดร้าย หน้าตาถมึงทึงที่เป็นเอกลักษณ์มาใช้ นำมาเขียนสีและระบายสีสันเขียนลงบนใบหน้าของทศกัณฐ์ หรือพิเภกที่มีลักษณะนิสัยไม่ดุร้าย เป็นยักษ์ฝ่ายดี ไม่มีฤทธิ์เดชมาก การเขียนสีและระบายบนใบหน้าจึงแลดูไม่ดุร้ายมากนัก

จำแนกตามสีหน้า สีกาย มงกุฎและอาวุธ

การจำแนกหัวโขนตามสีของสีกายและใบหน้า เป็นการแก้ปัญหาของช่างทำหัวโขน เพื่อให้สามารถรู้ถึงชื่อ รูปแบบและเครื่องประดับของหัวโขนแต่ละตัวที่มีเป็นจำนวนมาก ด้วยการเขียนระบายสีพื้นลงบนส่วนใบหน้าของหัวโขนเพื่อให้แยกแยะได้ง่ายขึ้นเช่น พญาวานรที่สวมมงกุฎยอดเหมือนกัน แต่แตกต่างกันเพียงสีของใบหน้าเช่น พญาวานรที่สวมมงกุฏยอดบัด ถ้าใบหน้าสีเขียวสดคือพาลี แต่ถ้าเป็นสีขาบคือท้าวมหาชมพู หรือสีแดงชาดคือสุครีพ เป็นต้น สำหรับสีที่ใช้ระบายสีหน้าของหัวโขนเช่นสีดำ สีเหลือง สีขาว สีแดงและสีครามหรือเรียกว่าสีเบญจรงค์ ในการระบายสีนั้น เป็นทักษะความรู้และความสามารถเฉพาะตัวของช่างทำหัวโขนแต่ละคน ซึ่งมักหวงแหนวิชาความรู้และเก็บเป็นความลับ ไม่ยอมถ่ายทอดวิชาให้แก่ผู้อื่นนอกจากลูกศิษย์เท่านั้น ซึ่งสีต่าง ๆ ที่นิยมใช้ระบายลงบนพื้นใบหน้าของหัวโขนแต่ละตัว มีดังนี้[8]

  • สีแดง ได้แก่สีแดง สีแดงชาด สีแดงเสน สีดินแดง สีลิ้นจี่ สีหงสบาท สีหงดิน สีหงชาด สีหงเสน
  • สีแสด ได้แก่สีดอกชบา สีฟ้าแลบ
  • สีเหลือง ได้แก่สีเหลืองรง สีเหลืองดิน สีเหลืองอ่อน สีเหลืองเทา สีเลื่อมเหลือง สีเลื่อมประภัสสร สีจันทร์
  • สีคราม ได้แก่สีคราม สีขาบ สีคราอ่อน สีดอกตะแบก สีมอคราม
  • สีน้ำตาล ได้แก่สีน้ำรัก สีผ่านแดง
  • สีม่วง ได้แก่สีม่วง สีบัวโรย สีม่วงแก่ สีม่วงอ่อน
  • สีเขียว ได้แก่สีเขียว สีก้ามปู สีน้ำไหล สีเขียวใบแค สีเขียวตังแช
  • สีดำ ได้แก่สีดำ สีดำหมึก สีผ่านหมึก สีมอหมึก
  • สีเทา ได้แก่สีเทา สีผ่านขาว สีเมฆ

นอกจากการจำแนกหัวโขนตามสีของใบหน้าแล้ว ช่างทำหัวโขนยังมีวิธีจำแนกหัวโขนตามแต่ประเภทของมงกุฏยอด ซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยหัว ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะให้แตกต่างกันออกไปอีกด้วย ซึ่งแม้จะมีการแยกประเภทของมงกุฏยอดให้แตกต่างกันแล้ว ก็ยังมีบางพวกที่มีสีของกาย ใบหน้าและมงกุฎที่สีซ้ำกัน แต่แตกต่างเพียงอาวุธเช่น ยักษํกายสีม่วงแก่ สวมมงกุฎยอดกระหนก ถือหอกเป็นอาวุธคือพญาทูษณ์ แต่ถ้ากายสีม่วงแก่ สวมมงกุฎยอดกระหนกแต่ถือกระบองเป็นอาวุธคือขุนประหัสต์ วานรกายสีขาวปากอ้า ถือตรีคือหนุมาน แต่ถ้าปากหุบ ถือพระขรรค์คือสัตพลี วานรกายสีดำปากหุบคือพิมลพานร แต่ถ้าปากอ้าคือนิลพัท เป็นต้น ช่างทำหัวโขนจึงต้องกำหนดให้หัวโขน มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันออกไปตามรูปลักษณ์ของหัวโขน เช่น มงกุฏฝ่ายลงกา มีประเภทของสีกายและมงกุฏ ดังนี้

มงกุฎยอดกระหนก
  • ท้าวกุเรปัน กายสีม่วงอ่อน ถือกระบองเป็นอาวุธ
  • ตรีปักกัน กายสีเขียว ถือศรเป็นอาวุธ
  • พญาทูษณ์หรือทูต กายสีม่วงแก่ ขี่ม้าผ่านดำเป็นพาหนะ
  • ประหัสต์ กายสีม่วงแก่ ถือกระบองเป็นอาวุธ
  • มัยราพณ์ กายสีม่วงอ่อน ถือกล้องเป่ายาคล้ายพลองยาวเป็นอาวุธ
  • ท้าวไวยตาล กายสีครามอ่อน ถือกระบองตาลเป็นอาวุธ
  • แสงอาทิตย์ กายสีแดงชาด
  • พญาหิรันต์ยักษ์ กายสีทอง
  • อนุราช กายสีจันทร์อ่อน
มงกุฎยอดจีบ
  • กุมภัณฑ์นุราช กายสีแดงเสน ถือคทาเป็นอาวุธ มีนาคเป็นสังวาลคล้องคอ
  • พญาขร กายสีเขียว ถือศรจักรพาฬพัง
  • ปทูตันหรือปทูตทันต์ กายสีหงดิน
  • ท้าวสัตลุง กายสีหงชาด ขัดคทา ถือศรเป็นอาวุธ
  • ท้าวสัทธาสูร กายสีหงเสน ขัดคทา ถือศรเป็นอาวุธ
  • เหรันต์ทูต กายสีม่วงอ่อน
มงกุฎยอดหางไก่
  • จักรวรรดิ กายสีขาว มีสี่หน้า
  • บรรลัยจักร กายสีม่วงอ่อน ถือศรเหราพตเป็นอาวุธ
  • ท้าวมหายมยักษ์ กายสีแดงชาด
  • มารัน กายสีทองหรือสีเหลือง
  • วิรุญจำบัง กายสีมอหมึก
มงกุฏยอดน้ำเต้า
  • กุมภากาศ กายสีหงดิน
  • ชิวหา กายสีหงชาด
  • พิเภก กายสีเขียว
  • วายุภักษ์ กายสีเขียว ยอดมงกุฏมีกาบรับบัวแวง
มงกุฎยอดน้ำเต้ากลม
  • กุมพล กายสีเขียว
  • กุเวรนุราช กายสีขาว ขัดคทา ถือศรเป็นอาวุธ
  • ตรีปุรัม กายสีดำหมึก ถือกระบองเป็นอาวุธ
  • นนยุพักตร์ กายสีเขียว
  • เปาวนาสูร กายสีขาว
  • พัทกาวี กายสีเหลือง
  • ไพจิตราสูร กายสีขาวหรือสีเขียว
มงกุฏยอดน้ำเต้าเฟือง
  • บรรลัยกัลป์ กายสีแดงหรือสีเหลืองอ่อน ขัดคทา ถือศรเป็นอาวุธ
  • ท้าวลัสเตียน กายสีขาว มงกุฎของท้าวลัสเตียนเป็นน้ำเต้าเฟืองปลายสะบัด
  • ไวยวิกหรือวันยุวิก กายสีม่วงแก่
มงกุฎยอดกาบไผ่
  • ทศคีรีวัน กายสีเขียว
  • ทศคีรีธร กายสีหงดิน
  • ปโรต กายสีม่วงแก่
  • รามสูร กายสีเขียว
มงกุฏยอดสามกลีบ
  • ทัพนาสูร กายสีหงดิน ถือศรเป็นอาวุธ
  • สวาหุ กายสีเขียวหรือสีหงดิน ถือกระบองเป็นอาวุธ
  • มารีศ กายสีขาว ถือกระบองเป็นอาวุธ
มงกุฏประเภทเดียวกับอินทรชิต
  • อินทรชิต กายสีเขียว ถือศรเป็นอาวุธ
  • สุริยาภพ กายสีแดง ถือหอกเมฆพัทเป็นอาวุธ
  • ไพนาสุริยวงศ์หรือทศพิน กายสีเขียว ขี่ม้าผ่านแดงเป็นพาหนะ
  • วิรุณพัท กายสีเขียว


ตัวละครในวรรณคดี เรื่อง รามเกียรติ์


ทศกัณฐ์




ทศกัณฐ์ เป็นอสูรบุตรของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา เจ้ากรุงลงกา เดิมเป็นยักษ์ชื่อ "นนทก" กลับชาติมาเกิด ซึ่งนนทกมีหน้าที่ล้างเท้าให้กับเทวดาทั้งหลาย เทวดาเหล่านั้นก็มักจะลูบหัวนนทกจนหัวล้าน นนทกจึงเกิดความแค้น เลยไปขอนิ้วเพชรจากพระอิศวร แล้วทำร้ายพวกเทวดาที่มาลูบหัวตน นนทกได้เข่นฆ่าเหล่าเทวดาตายนับไม่ถ้วน ทำให้พระอิศวรต้องร้องขอพระนารายณ์ให้มาช่วยปราบนนทกให้

พระนารายณ์จัดการกับนนทก โดยการจำแลงองค์เป็นนางเทพอัปสรดักอยู่ตรงทางที่นนทกเดินผ่านเป็นประจำ ฝ่ายยักษ์นนทกเมื่อได้เห็นนางจำแลงจึงเกิดความหลงและเข้าไปเกี้ยวพาราสี นางจำแลงแสร้งทำยินดี โดยยื่นข้อเสนอว่าให้นนทกร่ายรำตามนางทุกท่าแล้วจะยินดีผูกมิตรด้วย และแล้วยักษ์นนทกก็ทำตามนาง

โดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นเล่ห์กล จนกระทั่งถึงท่านาคาม้วนหางนิ้วเพชรของนนทกชี้ไปที่ขาของตัวเอง ขานนทกก็หักลงทันใด นนทกล้มลง ทันใดนั้น นางแปลงกลายเป็นพระนารายณ์เหยียบอกนนทกไว้

ก่อนตาย นนทกอ้างว่าพระนารายณ์มีหลายมือตนสู้ไม่ได้ พระนารายณ์จึงให้คำสัตย์ว่า ให้นนทกไปเกิดใหม่ มีสิบเศียรสิบพักตร์ยี่สิบมือ เหาะเหินเดินอากาศได้ มีอาวุธนานาชนิดครบทุกมือ ส่วนพระนารายณ์จะไปเกิดเป็นมนุษย์มีสองมือและตามไปฆ่านนทกให้ได้ นนทกต่อมานนทกไปเกิดเป็นเปรตอยู่ที่เขาของพระอิศวรมีกระดูกยื่นออกมาจากศีรษะและใช้เส้นเอ็นของตนเล่นศอจนพระอิศวรลงมานนทกจึงขอพรให้ตนไปเกิดเป็นทศกัณฐ์ตามคำของพระนารายณ์พระอิศวรจึงให้พรแล้วให้นนทกไปจุติในครรภ์พระนางรัชดา มเหสีท้าวลัสเตียน เจ้ากรุงลงกา เกิดมาเป็นโอรสนามว่าทศกัณฐ์



ชมพูพาน

ชมพูพาน เป็นตัวละครจากวรรณกรรมเรื่อง "รามเกียรติ์" เป็นลิงกายสีหงส์ชาด (สีแดง) เป็นลูกเลี้ยงของพญาพาลีแห่งเมืองขีดขิน ถือกำเนิดมาจากเหงื่อไคลพระอิศวร มีความรู้ในเรื่องยา สุครีพจึงพาไปถวายตัวต่อพระราม จึงมีหน้าที่เป็นแพทย์ประจำกองทัพพระราม เคยติดตามหนุมานและองคต ในตอนหนุมานไปถวายแหวนแก่นางสีดา ที่กรุงลงกา เมื่อครั้งศึกทศพิน ชมพูพานก็ได้รับมอบหมายให้เป็นทูตถือพระราชสารประกาศสงคราม เมื่อสิ้นศึกกรุงลงกา พระรามทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้ไปเป็นเจ้ากรุงปางตาล







มัจฉานุ

มัจฉานุ เป็นลูกของหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา เนื่องจากเป็นลูกของหนุมาน จึงมีร่างกายเป็นลิง แต่มีหางเป็นปลาเช่นเดียวกับนางสุพรรณมัจฉา แต่เมื่อนางสุพรรณมัจฉาได้คลอดมัจฉานุด้วยการสำรอกออกมาแล้ว เกรงว่าทศกัณฐ์จะรู้ว่าเป็นลูกตน จึงได้นำมัจฉานุไปทิ้งไว้ที่หาดริมทะเล หลังจากนั้น ไมยราพณ์ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองบาดาล ได้เดินทางมาพบและเก็บไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งภายหลัง หนุมานที่ได้ติดตามไมยราพณ์ ซึ่งลักพาตัวพระรามมาไว้ที่เมืองบาดาล จึงได้พบกับมัจฉานุ ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าด่านสระบัวอยู่ ทั้งสองจึงได้ต่อสู้กัน แต่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่สามารถเอาชนะกันได้เสียที จึงได้ถามมัจฉานุว่าเป็นลูกใครพ่อแม่ชื่ออะไร เมื่อได้ยินคำตอบของมัจฉานุ หนุมานก็ดีใจมากเมื่อได้พบลูกของตน เมื่อเสร็จศึกกรุงลงกาครั้งที่ 2 และศึกกรุงมลิวัน จึงได้รับแต่งตั้งเป็น พญาหนุราช ครองกรุงมลิวัน แทนท้าวจักรวรรดิ และได้นางรัตนามาลี ธิดาท้าวจักรวรรดิเป็นมเหสี








ไมยราพ

ไมยราพ เป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ พญายักษ์เจ้าแห่งเมืองบาดาล กายสีม่วงอ่อน มงกุฏยอดกระหนก ปากขบ นัยน์ตาจระเข้ มีเวทมนตร์สะกดทัพ และเครื่องสรรพยาเป่ากล้องล่องหนเป็นอาวุธ ในต้นฉบับภาษาสันสกฤตชื่อว่า อหิรภัณ

ไมยราพเป็นโอรสท้าวมหายมยักษ์กษัตริย์เมืองบาดาลองค์ที่ 2 และนางจันทรประภาศรี มีพี่สาว 1 คน คือนาง พิรากวน ภายหลังเมื่อท้าวมหายมยักษ์สิ้นพระชนม์ ไมยราพได้ครองเมืองบาดาลสืบแทนเป็นกษัตริย์แห่งเมืองบาดาลองค์ที่ 3 ซึ่งก่อนตายมหายมยักษ์ ก็ได้สั่งเสียว่าอย่าไปยุ่งกับทศกัณฐ์ผู้มีศักดิ์เป็นลุง เพราะจะเป็นภัยต่อเมืองบาดาล

ต่อมาไมยราพได้ไปเรียนวิชากับพระฤษีสุเมธ ที่เชิงป่าหิมพานต์จนมีวิชาเก่งกล้า รวมทั้งยังถอดหัวใจได้ จึงถอดดวงใจไว้ในแมลงภู่ แล้วนำไปซ่อนไว้ที่ยอดเขาตรีกูฏ ไมยราพณ์ได้พบมัจฉานุ ลูกของนางสุพรรณมัจฉากับหนุมานที่คลอดทิ้งไว้บนหาดทราย จึงเก็บมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

เมื่อทศกัณฐ์ได้มาเชิญให้ไมยราพไปช่วยรบ แม้นางจันทรประภาศรีพระมารดาจะห้ามปรามไว้ ไมยราพก็ไม่เชื่อฟัง และได้ไปสะกดทัพ และลักพาพระรามไปซ่อนไว้ที่เมืองบาดาล โดยใส่กรงเหล็กขังไว้ที่ดงตาลเพื่อรอต้มให้ตายพร้อมกับไวยวิกหลานชาย บุตรของนางพิรากวนที่ไมยราพกล่าวหาว่าเป็นกบฏ หนุมานจึงตามไปช่วยและได้พบกับมัจฉานุ ทั้งสองเกิดต่อสู้กันโดยไม่รู้ว่าเป็นพ่อลูก แต่ก็ทำอะไรกันไม่ได้จึงสอบถามความเป็นมาซึ่งกันและกัน ครั้นสอบถามและพิสูจน์กันด้วยลักษณะและการหาวเป็นดาวเป็นเดือนของหนุมาน มัจฉานุจึงยอมเชื่อ หนุมานจะให้มัจฉานุบอกที่ซ่อนพระราม แต่มัจฉานุยังกตัญญูต่อไมยราพ ก็ไม่ยอมบอกตามตรง แต่บอกใบ้ว่ามาทางใดก็ให้ไปทางนั้น หนุมานจึงมุดลงไปในสายบัวเหมือนกับที่ลงมาครั้งแรก และที่สุดหนุมานก็ฆ่าไมยราพตาย ไวยวิกบุตรของนางพิรากวนจึงได้เป็นกษัตริย์แห่งกรุงบาดาลองค์ที่ 4





หนุมาน

หนุมาน เป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นลิงเผือก จึงมีสีขาวเป็นสีประจำกาย เมื่อสำแดงฤทธิ์จะมี 4 หน้า 8 มือ นอกจากนี้ ยังมีลักษณะประจำกายอื่น ๆ อีก เช่น สวมกุณฑล มีขนเพชร มีเขี้ยวเป็นแก้ว และ หาวเป็นดาวเป็นเดือน

หนุมาน เป็นลิงที่มีฤทธิ์มาก สามารถสำแดงเดชต่าง ๆ ได้หลายประการ เช่น การขยายร่างกายให้ใหญ่โต การยืดหางให้ยาว เป็นต้น นอกจากนี้ หนุมานยังได้ชื่อว่าเป็นอมตะ คือ ไม่มีวันตาย เนื่องจากเป็นบุตรของพระพาย (ลม) กับนางสวาหะ ด้วยเหตุนี้ เมื่อหนุมานมีอันตรายถึงตายแล้ว เพียงแค่มีลมพัดมา หนุมานก็จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ด้วยอำนาจของพระพายผู้เป็นบิดา


นิลพัท

นิลพัท เป็นบุตรพระกาฬ พระกาฬมอบให้พระอิศวร พระอิศวรมอบให้เป็นบุตรบุญธรรมของท้าวมหาชมพู เจ้าเมืองชมพู มีฤทธิ์มากเทียบเท่ากับหนุมาน ไม่ถูกกับหนุมาน จึงกลั่นแกล้งหนุมานตอนพระรามสั่งให้กองทัพลิงไปขนหินถมถนนไปสู่กรุงลงกา หนุมานกับนิลพัทเลยต่อสู้กัน พระรามจึงมาสงบศึกและตัดสิน เมื่อทราบความว่านิลพัทเป็นฝ่ายหาเรื่องก่อน พระรามกริ้วนิลพัทมาก เนรเทศให้ไปอยู่เมืองขีดขินสั่งให้คอยส่งเสบียงอาหารให้แก่กองทัพ เมื่อเสร็จศึกกรุงลงกาพระรามแต่งตั้งให้เป็นอุปราชกรุงชมพูมีนามใหม่ว่า พระยาอภัยพัทวงค์

นิลพัทมีลักษณะเหมือนหนุมานทุกอย่าง เพียงแต่มีกายสีดำ มีกุณฑล ขนเพชร เขี้ยวแก้ว สี่หน้า แปดกร



พาลี

พาลี หรือ พญาพาลี เป็นลิงที่เป็นตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นลิงเจ้าเมืองขีดขิน ที่มีฤทธิ์มากที่สุดตัวหนึ่ง มีกายสีเขียว เป็นโอรสของพระอินทร์ กับ นางกาลอัจนา เดิมชื่อ กากาศ ตอนเด็กโดนฤๅษีโคดมสาปให้กลายเป็นลิงเช่นเดียวกันกับสุครีพ ซึ่งเป็นน้องชาย เพราะรู้ว่าทั้ง 2 เป็นลูกชู้ ต่อมาพระอินทร์ผู้เป็นบิดา ได้สร้างเมืองชื่อ ขีดขินให้พาลีปกครอง และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า พระยากากาศ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น พาลี เคยต่อสู้กับ ทรพี ควายที่ฆ่า ทรพา พ่อของตนเอง ที่มีเทวดาอารักขาขาทั้งสี่ข้างและสองเขา ซึ่งพาลีจะต้องเข้าไปสู้ในถ้ำสุรกานต์ ก่อนไปได้สั่งเสียสุครีพไว้ว่า ถ้าผ่านไปเจ็ดวันแล้ว ถ้าตนไม่กลับมา ให้ไปดูรอยเลือด ถ้าเลือดข้นนั้นคือ เลือดทรพี ถ้าเลือดใสนั้นคือเลือดตน

ตอนที่พระอิศวรฝากนางดารามากับพาลีเพื่อให้กับสุครีพผู้เป็นน้อง พาลีได้ยึดนางดาราไว้เป็นภรรยาเสียเอง พาลีเคยแย่งนางมณโฑกับทศกัณฐ์เมื่อตอนที่เหาะผ่านเมืองขีดขินด้วย และมีบุตรกับนางมณโฑ คือ องคต

สุดท้ายพาลีสิ้นชีวิตจากศรของพระราม ขณะที่พระรามแผลงศรใส่พาลี พาลีจับศรไว้ได้ พาลีจึงได้เห็นร่างที่แท้จริงของพระราม ว่าเป็นพระนารายณ์อวตาร จึงได้สำนึกผิด และเรียกสุครีพมาสั่งสอน ซึ่งเรียกว่า "พาลีสอนน้อง" และฝากฝังเมืองขีดขินไว้ จากนั้นก็ปล่อยให้ศรปักอกตาย หลังจากที่พาลีตายได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรพาลีบนสวรรค์ ได้มีบทบาทตอนไปทำลายพิธีชุบหอกกบิลพัทของทศกัณฐ์ ในศาสนาฮินดูพาลีไม่ได้ยึดนางดาราภรรยาของสุครีพ และเป็นกษัตริย์ที่ทรงคุณธรรม เขาตายเนื่องจากพระรามลอบสังหารเขาในขณะต่อกรกับสุครีพ ในชาติต่อไปเขาไปเกิดเป็นนายพรานจาราและสังหารพระกฤษณะซึ่งเป็นพระรามในชาติก่อน



พระราม

พระราม เป็นตัวละครเอกในเรื่องรามเกียรติ์ ตามตำนาน เล่าว่าพระรามเป็นปางที่ ของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ (รามาวตารหรือรามจันทราวตาร) อวตารลงมาเป็นโอรสท้าวทศรถ และนางเกาสุริยา มีพระวรกายเป็นสีเขียว ทรงธนูเป็นอาวุธ มีศรวิเศษสามเล่มคือ ศรพรหมมาตร ศรอัคนิวาต และศรพลายวาต เวลาสำแดงอิทธิฤทธิ์จะปรากฏเป็น มือ ทรงเทพอาวุธ ตรี คฑา จักร สังข์




 นางสีดา

เรื่องของนางเริ่มต้นขึ้นเมื่อพระนารายณ์ได้อวตารลงเป็นเกิดเป็นพระราม พระลักษมีพระชายาแห่งพระนารายณ์จึงทรงอวตารลงไปเกิดเป็นคู่ครองของพระราม ณ กรุงอโยธยาในครานั้น ท้าวทศรถผู้ครองนครมีอายุมากแล้ว ทั้งทีมีมเหสีถึงสามนางคือ พระนางเกาสุริยา พระนางไกยเกษี และพระนางสมุทรเทวี แต่พระองค์ก็หาได้มีพระโอรสธิดาไว้สืบราชวงศ์ไม่ ท้าวทศรถได้นำความนี้ปรึกษากับเหล่าฤๅษี ซึ่งพระฤๅษีกไลโกฎได้ทูลว่า ควรจะทำพิธีบวงสรวงขอพระโอรสธิดาจากเทพเจ้า ด้วยวิธีการกวนข้าวทิพย์ ท้าวทศรถจึงจัดพิธีการกวนข้าวทิพย์อย่างยิ่งใหญ่ภายในกรุงอโยธยาเพื่อวอนขอสิ่งที่พระองค์ปรารถนา

พระอิศวรจึงมีพระบัญชาให้พระรามลงอวตารเป็นพระโอรสแห่งท้าวทศรถ ซึ่งพระยาอนันตนาคราชผู้เป็นพระแท่นบรรทมของพระนารายณ์ก็ขอติดตามไปด้วย เมื่อพิธีเสร็จสิ้น ท้าวทศรถจึงแบ่งก้อนข้าวทิพย์ให้แก่มเหสีทั้งสามของพระองค์ แต่เหลือข้าวก้อนสุดท้ายอยู่ ข้าวทิพย์เหล่านี้มีกลิ่นหอมหวลอย่างมากจนฟุ้งไกลไปถึงกรุงลงกา นางมณโฑ มเหสีของทศกัณฐ์ได้กลิ่นเข้าก็ร่ำร้องอยากกินให้ได้ มิฉะนั้นตนต้องขาดใจตายเป็นแน่ ทศกัณฐ์จึงมีบัญชาให้นางกากนาสูรสมุนของตนไปโฉบเอาก้อนข้าวทิพย์มาให้นางมณโฑ

เมื่อมเหสีแห่งท้าวทศรถรวมทั้งนางมณโฑได้กินข้าวทิพย์เข้าไปทำให้ต่างนางต่างตั้งครรภ์ ยังความดีใจให้กับท้าวทศรถและทศกัณฐ์อย่างมาก พระนางเกาสุริยาได้ประสูติพระโอรสองค์โตคือ พระราม (พระนารายณ์อวตาร)พระนางไกยเกษีประสูติพระโอรสองค์รองคือ พระพรต (จักรแห่งพระนารายณ์มาเกิด)พระนางสมุทรเทวีประสูติโอรสแฝดคือ พระลักษมณ์ (พระยาอนันตนาคราช)และพระสัตรุด (คฑาพระนารายณ์)สุดท้าย นางมณโฑก็ประสูติพระธิดาทรงโฉมงดงามยิ่ง คือพระลักษมีอวตาร นางสีดานั่นเอง






นางสุพรรณมัจฉา

นางสุพรรณมัจฉา เป็นบุตรของทศกัณฑ์ กับนางปลา ซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานแต่ทศกัณฑ์ได้แปลงกายเป็นปลาลงไปสมสู่จนกำเนิดบุตรขึ้นมา


างมณโฑ

นางมณโฑเทวีเป็นนางฟ้าผู้รับใช้ใกล้ชิดของพระอุมาเทวี อดีตชาติเป็นนางกบ ที่ได้อาศัยอยู่กับพระฤๅษี ๔ องค์ที่บำเพ็ญตบะมาหลายหมื่นปี ทุกเช้าจะมีนางโคห้าร้อยตัวมาหยดน้ำนมลงในอ่างให้ฤๅษีดื่มกิน ฤๅษีก็จะแบ่งน้ำนมให้แก่นางกบกินด้วยทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งมีนางนาคขึ้นมาจากเมืองบาดาลด้วยความกำหนัดใคร่หาชายมาสมสู่ด้วย หาเท่าไรก็ไม่เจอผู้ชายซักคนจนไปพบงูดินเพศผู้ตัวหนึ่งจึงกลายร่างเป็นพญานาคและร่วมสมสู่กับงูดิน ฤๅษีทั้ง๔เดินมาพบก็แปลกใจเหตุใดพญานาคลดตัวต่ำมาร่วมรักกับงูดินได้ พระฤๅษีจึงเอาไม้เท้าเคาะที่กลางหลัง นางนาคตกใจและอับอายหนีหายเข้าเมืองบาดาล นางนาคคิดได้จึงคิดฆ่าพระฤๅษีเพราะกลัวว่าจะนำเรื่องของตนไปเผยแพร่ จึงได้คายพิษใส่ในอ่างน้ำนมนางกบมาเห็นจึงกินนมในอ่างจนหมดจนตนเองตาย พระฤๅษีมาเห็นจึงเพ่งตบะเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จึงทำการชุบชีวิตและเสกนางเป็นสาวงามและตั้งชื่อว่า นางมนโฑ ซึ่งหมายถึง นางกบ และนำนางไปถวายแก่พระอิศวร พระอิศวรรับนาง และให้นางไปเป็นนางพระกำนัล ของพระอุมาเทวี พระมเหสีของตน ภายหลังได้ประทานให้แก่ทศกัณฐ์ที่สามารถชะลอเขาไกรลาศให้ตั้งตรงได้




พระลักษณ์ คือ พญาอนันตนาคราช ที่ประทับของพระนารายณ์มาเกิด มีกายสีทอง เป็นพระโอรสของท้าวทศรถ กับนางสมุทรเทวี  มีพระอนุชาร่วมพระมารดา คือ พระสตรุต  พระลักษณ์มีความจงรักภักดีต่อพระรามมาก  เมื่อพระรามต้องออกเดินป่าถึง ๑๔ ปี พระลักษณ์ก็ได้ติดตามไปด้วย  และยังช่วยออกรบกับกองทัพของกรุงลงกา อย่างกล้าหาญ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น