https://www.youtube.com/watch?v=qTpxAxoibvw
เพลง Jazz เพลงพระราชนิพนธ์ [The jazz king]
https://www.youtube.com/watch?v=biRGJcWuMkA
บทเพลงพระราชนิพนธ์ ชุด รักพ่อ...มิรู้จบ (เต็มอัลบั้ม)【Official Audio】
“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงามและทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างกันออกไป”
ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัส ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่นักข่าวอเมริกันในรายการเสียงแห่งวิทยุอเมริกา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2503 ถึงเรื่องดนตรีที่พระองค์ทรงโปรด
ด้วยพระชนมายุเพียง 18 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลงอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช โดยพระองค์สามารถพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงได้หลากหลายแนวทั้งแจ๊สและบลูส์
แม้ว่าพระองค์จะทรงพระราชกรณียกิจอย่างหนักในฐานะประมุขของประเทศ แต่ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ถึง 48 เพลง พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้นกล่าวกันว่า หากทรงมีแรงบันดาลใจ ทรงสามารถพระราชนิพนธ์เพลงได้ทันที ดังใน พ.ศ. 2502 ที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์เสด็จเยือนประเทศไทย ระหว่างที่ทรงรอเครื่องบินจอดราว 10 นาที ก็ทรงแต่งเพลง Alexandra โดยใช้เวลาไม่กี่นาที หรือใน พ.ศ. 2516 “แมนรัตน์ ศรีกรานนท์” เล่าว่า ทรงแต่งเพลง “เราสู้ แบบสด ๆ โดยทรงขีดเส้นโน้ตห้าเส้นบนซองจดหมายแล้วทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงออกมาโดยพลัน”
นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระสหายทางดนตรี ซึ่งเป็นนักดนตรีแจ๊สชั้นแนวหน้า ผู้ได้รับฉายาว่า “King of Swing” เขาผู้นั้น คือ “เบนนี่ กู๊ดแมน” โดยพระองค์ทรงร่วมแสดงดนตรีกับศิลปินผู้นี้ถึง 2 ครั้ง ในงานเลี้ยงที่จัดขึ้นโดยผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก และบนอพาร์ตเม้นท์ของนายเบนนี่
พระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้รับการยอมรับและยกย่องจากทั่วโลก และด้วยพระอัจฉริยภาพอันสูงส่งด้านดนตรี สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (Academy for Music and Performing Arts in Vienna) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรเกียรติคุณชั้นสูงแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ ลำดับที่ 23 พร้อมทั้งจารึกพระปรมาภิไธยลงบนแผ่นศิลาของสถาบัน ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุดและเป็นชาวเอเชียเพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้
ในการเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐออสเตรียในครั้งนั้น (พ.ศ. 2507) วงดุริยางค์นีเดอร์เออสทอร์ไรซ์ โทนคึนสทเลอร์ ออร์เคสตรา ได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ออกบรรเลง ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ไปทรงฟังดนตรี ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ตามเสด็จครั้งนั้น ได้บันทึกไว้ว่า
“…ชาวต่างประเทศซึ่งได้ซื้อตั๋วเพื่อจะทดสอบดูว่า ประชาชนที่มาฟังดนตรีนี้ ชอบ ชื่นชม กับเพลงพระราชนิพนธ์หรือเปล่า ปรากฏว่าทุกเพลงต้องช้า ล่าช้า…เพราะประชาชนได้ปรบมือถวายพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะทุกครั้งที่มีการปรบมือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ใน BOX ของ Presidential Box…ได้ทรงลุกขึ้นยืนรับการปรบมือจากประชาชน… หลังจากการดนตรีสิ้นสุดลง ผู้ที่มาฟังดนตรีมาบอกกับท่านทูตชาติชายฯ ว่า ‘ถ้าไม่อยากที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ละก็ มาเล่นดนตรีที่กรุงเวียนนาเถิด จะเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงยิ่งต่อไป”
www.vogue.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น